มาทำความรู้จักกับเหรียญกันก่อน
เหรียญ เป็นวัตถุของแข็งมีลักษณะเป็นแผ่นกลม ผลิตมาจากโลหะหรือพลาสติกเป็นหลัก มีการนำเหรียญ มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นเงินตราที่มีมูลค่าสำหรับแลกเปลี่ยน เรียกว่า เหรียญกษาปณ์ ผลิตแจกจ่ายโดยรัฐบาล เหรียญถูกใช้ในรูปของเงินสดในระบบการเงินสมัยใหม่เช่นเดียวกับธนบัตรแต่ใช้ในหน่วยที่มีมูลค่าต่ำกว่า ขณะที่ธนบัตรจะถูกใช้ในหน่วยที่มีมูลค่าสูงกว่า โดยปกติ ค่าสูงสุดของเหรียญจะต่ำกว่าค่าต่ำสุดของธนบัตร มูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนของเหรียญมาจากมูลค่าทางด้านประวัติของมันหรือมูลค่าที่แท้จริงของโลหะที่เป็นส่วนประกอบ (เช่น เหรียญทอง, เหรียญเงิน หรือเหรียญแพลทินัม) เหรียญยัง นำมาใช้เป็นของรางวัลหรือของที่ระลึก ซึ่งก็จะเรียกว่า เหรียญรางวัลกับเหรียญที่ระลึกนั่นเอง
เหรียญกษาปณ์ของไทยมีแบบไหนกันบ้าง
กรมธนารักษ์ระบุว่า ปัจจุบัน มีเหรียญที่มีมูลค่าจริงสูงกว่าราคาหน้าเหรียญอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
- เหรียญ 25 สตางค์ เป็นเหรียญกษาปณ์สีแดงเรื่อ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ส่วนด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. น้ำหนัก 1.9 กรัม มีต้นทุนการผลิตเหรียญละ 50 สตางค์
- เหรียญ 50 สตางค์ ผลิตจากโลหะผสมแบบเดียวกัน คือ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เช่นกัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มม. และ มีน้ำหนักถึง 2.4 กรัม ต้นทุนการผลิตเหรียญละ 70 สตางค์
- เหรียญ 1 บาท ผลิตจากโลหะผสม มีสีขาว โดยใส้ในเป็นเหล็ก ส่วนด้านนอกชุบด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 มม. น้ำหนัก 3 กรัม ต้นทุนการผลิตสูงถึงเหรียญละ 1.80 บาท
ส่วนเหรียญที่มีต้นทุนการผลิตไม่ขาดทุน ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่ระบุว่าต้นทุนเหรียญละเท่าไหร่ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
- เหรียญ 2 บาท เป็นโลหะสีทอง ซึ่งผลิตจากทองแดงผสมด้วยนิกเกิลและอลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21.75 มม. น้ำหนัก 4 กรัม
- เหรียญ 5 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ผลิตจากโลหะผสมคือ ใส้ในเป็นทองแดง ส่วนด้านนอกเคลือบกด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 มม. น้ำหนัก 6 กรัม
- เหรียญ 10 บาท เป็นเหรียญสีขาวกับสีทอง โดยวงนอกเป็นโลหะผสม คือ ทองแดงกับนิกเกิล วงในผลิตจากทองแดง นิกเกิล และ อะลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มม. หนัก 8.5 กรัม